เทคนิคการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพนักงาน เพื่อการผลิตอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน

การปฏิบัติหรือพฤติกรรมของพนักงานมีผลต่อความปลอดภัยอาหาร แต่การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติหรือพฤติกรรมของพนักงานไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการทั่วไปที่โรงงานอาหารนิยมใช้เพื่อให้พนักงานเกิดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยอาหารแล้วส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติหรือพฤติกรรม เช่น การฝึกอบรม และการตรวจติดตามการปฏิบัติงานของพนักงาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่ปลอดภัยอาหารจากการปนเปื้อนอันตรายต่างๆ ยังคงเกิดขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การปฏิบัติหรือพฤติกรรมของพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น การปนเปื้อน Listeria monocytogenes ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของบริษัทผู้ประกอบการขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศแคนาดา ส่งผลทำให้ผู้บริโภคเสียชีวิตรวม 23 คน จากการทำงานของคณะกรรมการสืบสวนจากหน่วยงานรัฐ ได้มีข้อแนะนำ 57 ข้อให้กับผู้ประกอบการดังกล่าวนำไปเป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่าการมุ่งเน้นด้านความปลอดภัยอาหารของบริษัทยังไม่เพียงพอทั้งก่อนและระหว่างการเกิดปัญหา และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทต้องสร้าง Food safety culture โดยเฉพาะ Positive food safety culture ให้เกิดเป็นรูปธรรม

Yiannas Frank กล่าวไว้ว่า การประยุกต์ใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Science) มีส่วนช่วยในการจัดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติหรือพฤติกรรมของพนักงาน เพื่อให้ผลิตอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน หรือสรุปไว้สั้นๆ ว่า “ความปลอดภัยอาหาร = พฤติกรรม” การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพนักงานให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะที่ดี ให้เกิดอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ และต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งสำคัญ พนักงานต้องมีการปฏิบัติเป็นไปแบบอัตโนมัติ หลายปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมจำนวนมาก และสามารถนำมาปรับใช้หรือประยุกต์ใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานในโรงงานอาหารได้เพื่อให้ผลิตอาหารปลอดภัย ซึ่งการประยุกต์หลักการจากงานวิจัยดังกล่าวไม่ต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก แต่ต้องมีความเข้าใจ และสามารถปรับใช้หรือเปลี่ยนแปลงนำมาใช้ เพื่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงพฤติกรรมของพนักงานเพื่อการผลิตอาหารปลอดภัย หรือให้เกิด Food safety culture ขึ้นในองค์กร

ขอขอบคุณ : www.foodfocusthailand.com