ทำไมต้องรู้เรื่อง ISO 45001 ตอนที่ 2

บทความเรื่อง ทำไมต้องรู้เรื่อง ISO 45001 ตอนที่ 1 ได้นำเสนอเรื่องของมาตรฐาน ISO 45001 ซึ่งสามารถช่วยให้องค์กรลดหรือป้องกันการสูญเสียจากอุบัติเหตุหรือโรคที่เป็นอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานได้ ซึ่งคริสเตียน เกลเซล ผู้ประสานงานุของกลุ่มงาน ISO/PC 283 ที่พัฒนามาตรฐาน ISO 45001 และชาล์ลส์ คอร์รี เลขานุการของกลุ่มงานได้อธิบายกับผู้สื่อข่าววารสารไอเอสโอโฟกัสว่ามาตรฐานนี้ได้ให้กรอบการทำงานที่ชัดเจนสำหรับองค์กรที่ต้องการปรับปรุงสมรรถนะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนอกจากนี้ เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าเพิ่งได้รับรองตาม OHSAS 18001 แล้วจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับ ISO 45001 ได้โดยทำการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กำหนดขอบข่ายของระบบไปพร้อมๆ กับการพิจารณาว่าอะไรคือระบบการบริหารจัดการที่ต้องกำหนดขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ แล้วใช้ข้อมูลดังกล่าวในการกำหนดกระบวนการ การประเมินความเสี่ยงขององค์กร และที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) สำหรับกระบวนการเหล่านั้น สำหรับบทความในตอนที่ 2 ผู้สื่อข่าววารสารไอเอสโอโฟกัสได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจกับคริสเตียน เกลเซล และชาร์ลส์ คอร์รี อีก 3 คำถามดังต่อไปนี้

ถาม: ในกรณีที่ผู้ใช้มาตรฐานยังไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องมาตรฐาน OHSAS 18001 มาก่อนเลย แต่ต้องมาทำความเข้าใจกับมาตรฐาน ISO 45001 จะต้องทำอย่างไร

ตอบ: ก่อนอื่น ขอแนะนำว่า ISO 45001 ได้รับเอา Annex SL ซึ่งมีโครงสร้างที่เรียกว่า High-Level Structure (HLS) ซึ่งหลักๆแล้ว คำศัพท์และนิยามคำศัพท์จะเหมือนกันทุกประการกับมาตรฐานระบบการจัดการอื่นๆ ที่ไอเอสโอได้ปรับปรุงมาตรฐานขึ้นมาใหม่ เช่น มาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9001:2015 (Quality Management System) และมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2015 (Environmental Management System) เป็นต้น ดังนั้น ถ้ามีความคุ้นเคยกับเรื่องดังกล่าวแล้ว มาตรฐาน ISO 45001 ก็จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกคุ้นเคยและทำได้ง่ายขึ้นเพียงแค่ปรับบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปในระบบเท่านั้น

แต่ถ้าไม่คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านั้นเลย ก็อาจจะไม่ง่ายนักที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาตามมาตรฐาน แต่เทคนิคก็คือขอให้ทำความเข้าใจและคิดถึงความเชื่อมโยงถึงกันระหว่างข้อกำหนดเฉพาะต่างๆ และสิ่งที่ควรทำมากที่สุดก็คือการเข้าคอร์สฝึกอบรมซึ่งจะช่วยปลดล็อคความเข้าใจในมาตรฐานทั้งหมดลงได้ หรือไม่ก็พิจารณาหาบริษัทที่ปรึกษาเข้าไปช่วยเหลือในการทำระบบ

ถาม: ถ้าได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 9001 และ ISO 14001 แล้ว จะใช้มาตรฐาน ISO 45001 ร่วมกับระบบการจัดการอื่นๆ อย่างไร

ตอบ: HLS ซึ่งเป็นกรอบการทำงานของไอเอสโอได้รับการพัฒนาขึ้นมาสำหรับมาตรฐานระบบการจัดการซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการรวมเอามาตรฐานระบบการจัดการที่องค์กรได้จัดทำอยู่แล้วเข้าไปใช้งานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ISO 45001 จะมีพื้นฐานของกรอบการทำงานดังกล่าวอย่างใกล้ชิดกับมาตรฐาน ISO 14001 เนื่องจากไอเอสโอได้ตระหนักดีว่าการทำงานภายในองค์กรต่างๆ นั้น ต้องการจะรวมเอาหน้าที่ในด้านสิ่งแวดล้อมกับหน้าที่ในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเข้าไปไว้ด้วยกัน

ถาม: แล้วจะนำมาตรฐาน ISO 45001 ไปใช้อย่างไร

ตอบ: คาดว่าองค์กรส่วนใหญ่จะใช้ ISO 45001 เพื่อกำหนดระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิผล แลคงมีเพียงส่วนน้อยที่ทำเพื่ออยากได้ใบรับรอง อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องขอรับรองมาตรฐานดังกล่าว เพียงแต่ถ้ามีระบบนี้แล้ว ก็จะช่วยให้ได้รับประโยชน์จากการนำวิธีปฏิบัติที่ดีไปใช้งาน การได้รับใบรับรองเป็นเพียงการแสดงให้หน่วยงานภายนอกรับทราบว่าองค์กรสามารถทำระบบได้อย่างสอดคล้องกับมาตรฐานเท่านั้นเอง

ประโยชน์ทีได้รับจากการนำ ISO 45001 ไปใช้อย่างถูกต้องนั้นมีมากมาย มาตรฐานจำเป็นต้องมีการเน้นในเรื่องความเสี่ยงด้านการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและมีการควบคุม และยังต้องมีแนวทางที่มีพื้นฐานในเรื่องของความเสี่ยงของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเพื่อทำให้มั่นใจในประสิทธิผลของระบบและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบสนองต่อบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กร

นอกจากนี้ ยังทำให้มั่นใจในความสอดคล้องกับตัวบทกฎหมายในปัจจุบันที่มีอยู่ทั่วโลกด้วย เมื่อรวมทุกเรื่องเข้าด้วยกันแล้ว จึงทำให้ชื่อเสียงขององค์กรได้รับการยอมรับและถือเป็นสถานที่ ที่มีความปลอดภัยในการทำงานและนำมาซึ่งประโยชน์อื่นๆ ที่ตามมาอีกหลายอย่าง เช่น ลดค่าใช้จ่ายด้านประกันภัย เพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน และทำให้เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรมีความต่อเนื่อง เป็นต้น

เมื่อนึกถึงสภาพความเป็นจริงในการทำงาน แน่นอนว่าอาจจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในอนาคต แต่หากเราสร้างระบบที่ได้มีการพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ  ไว้รองรับอย่างมาตรฐาน ISO 45001 แล้ว อย่างน้อยก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะสามารถควบคุมดูแลและจัดการระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพได้

ขอขอบคุณ ที่มา : www.masciinnoversity.com