สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากถั่วเหลืองกับคุณประโยชน์ต่อร่างกาย

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive compounds) คือ สารจากสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคน สัตว์ และพืช โดยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ดีต้องเป็นสารที่มีผลจําเพาะเจาะจงและสารนั้นจะต้องไม่มีผลในทางลบต่อร่างกาย หรือมีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพมีหลายชนิด เช่น สารกลุ่มพอลิฟีนอล (Polyphenol) ฟลาโวนอยด์ (Flavoniod) แอนโทไซยานิน (Anthocyaine) ลูทีน (Lutein) และไบโอแอคทีฟเพปไทด์ (Bioactive peptide)1 เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงไบโอแอคทีฟเพปไทด์เเป็นหลัก

 

ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าโปรตีนจากอาหารประกอบด้วยลำดับกรดอะมิโมที่เป็นส่วนประกอบของเพปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาซึ่งออกฤทธิ์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ปรับระบบภูมิคุ้มกัน (Immunomodulation) ลดความดันโลหิต (Anti-hypertension) ลดน้ำตาลในเลือด (Anti-diabetic) และลดไขมันในเลือด (Anti-dyslipidemic) โดยทั่วไปไบโอแอคทีฟเพปไทด์จะประกอบด้วยกรดอะมิโน 2-20 ชนิดและมีมวลโมเลกุลน้อยกว่า 6,000 ดาลตัน ซึ่งการเกิดหรือการผลิตไบโอแอคทีฟเพปไทด์นั้นจะเกิดจากกระบวนการย่อยด้วยน้ำ (Hydrolysis) โดยมีเอนไซม์ในกลุ่มโปรติเอส (Protease) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งทำให้เกิดเพปไทด์สายสั้นๆ หรือเกิดไบโอแอคทีฟเพปไทด์ขึ้น ซึ่งร่างกายจะสามารถดูดซึมเพปไทด์สายสั้นๆ ได้รวดเร็วกว่าในรูปกรดอะมิโน2

 

ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชและลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในจีน ยุโรป และอเมริกา ทำให้โปรตีนจากพืชมีบทบาทมากขึ้นในอนาคตซึ่งรวมถึงไบโอแอคทีฟเพปไทด์จากพืชด้วย เช่น เพปไทด์จากถั่วเหลือง (Soy peptide)

ขอขอบคุณ : www.foodfocusthailand.com