การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์

      การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ เราจำเป็นต้องทราบรูปแบบของสภาวะอันตรายที่สินค้าอาจประสบระหว่างการขนส่ง เช่น ความชื้น สภาพอากาศ อุณหภูมิ รูปแบบการลำเลียง เป็นต้น นอกจากนั้น ความเสียหายจากเหตุการณ์ทางกลที่เกิดจากการตกกระแทก (shock and impact) การสั่นสะเทือน (vibration) และการกดทับ (compression) ต่างก็มีผลให้สินค้าเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้น การทดสอบบรรจุภัณฑ์ก่อนการขนส่งจริงจึงใช้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการถือว่าเป็นการคาดคะเนเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากสภาวะเเวดล้อมในกระบวนการขนส่งจริงมีความแปรปรวนได้ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการทดสอบ การเก็บข้อมูลของสภาวการณ์ที่เกี่ยวข้องจึงต้องนำมาใช้เป็นข้อมูลนำเข้าในการจำลองสภาวะการทดสอบในห้องปฏิบัติการให้เสมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงที่สุด ซึ่งผลจากการทดสอบนี้เองจะเป็นผลให้บรรจุภัณฑ์ขนส่งนั้นสามารถถูกนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น


ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการทดสอบที่สามารถสะท้อนความเสียหายของสินค้าจากการตกกระแทกและการสั่นสะเทือน เช่น ความสูงของการวางเรียงซ้อน รูปแบบการเก็บรักษาสินค้า สภาวะบรรยากาศ ระยะเวลาประเภทยานพาหนะขนส่ง รูปแบบและจำนวนครั้งที่สินค้ามีโอกาสตกกระแทกได้ เป็นต้น ดังนั้น อุปกรณ์บันทึกข้อมูลและตรวจวัดความเร่งจึงเป็นเครื่องมือที่เก็บและบันทึกข้อมูลกิจกรรมภาคสนามที่เกิดขึ้น เช่นอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันบรรยากาศ เพื่อนำมาใช้จำลองรูปแบบของสภาวะการขนส่งในห้องปฏิบัติการให้ใกล้เคียงกับการขนส่งจริงที่สุด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อบรรจุภัณฑ์ขนส่งที่ออกเเบบมา


การทดสอบบรรจุภัณฑ์ขนส่งนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การทดสอบก่อนการขนส่ง และระหว่างขนส่งจริง ซึ่งการทดสอบก่อนการขนส่งนั้นมักอ้างอิงมาตรฐาน ASTM D4169 “Standard Practice for Performance Testing of Shipping Containers and Systems” และระเบียบวิธี ISTA 1A และ 2A ประกอบด้วยลำดับการทดสอบการตกกระแทกการสั่นสะเทือน และการกดทับ เพื่อประเมินสมรรถนะของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนต่ออันตรายที่เกิดขึ้นในสภาวะการขนส่งได้ โดยใช้บรรจุภัณฑ์ชุดเดียวกันต่อเนื่องตลอดการทดสอบ และจะเปิดบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจสอบและประเมินความเสียหายของสินค้าเมื่อการทดสอบเสร็จสิ้น การทดสอบประเภทนี้จะให้ผลเพียงผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น จึงไม่ได้เป็นการรับประกันว่าสินค้าจะไม่เกิดความเสียหายภายใต้สภาวะแวดล้อมขนส่งจริงได้ เนื่องจากสินค้าอาจเผอิญกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ยากต่อการควบคุม


การทดสอบสมรรถนะของบรรจุภัณฑ์ขนส่งสามารถกระทำระหว่างการขนส่งจริง ในกรณีนี้ผลการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อความเสียหายของสินค้าระหว่างทางจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับผลทดสอบที่ได้จากห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถใช้ทดแทนการทดสอบก่อนการขนส่งในห้องปฏิบัติการได้ เนื่องจากสภาวะการทดสอบจะถูกควบคุมในห้องปฏิบัติการ ในขณะที่สภาวะบรรยากาศระหว่างการขนส่งจริงอาจมีการแปรปรวนของอุณหภูมิ ความชื้น ลักษณะเส้นทาง และพฤติกรรมของผู้บังคับพาหนะขนส่ง เป็นผลให้เกิดความรุนแรงมากกว่าผลที่ได้จากห้องปฏิบัติการ


ระดับความเสียหายต่อสินค้าขึ้นกับความสามารถในการปกป้องของบรรจุภัณฑ์และระดับความทนต่อการเเตกหักเสียหายของตัวสินค้า (product fragility) เองด้วย วัสดุกันกระแทกจึงเป็นอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยลดความรุนแรงที่จะมีผลต่อตัวสินค้าได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การใช้วัสดุบรรจุเกินความจำเป็นจะสามารถปกป้องสินค้าจากความเสียหายได้จริงอยู่ แต่อาจส่งผลให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในทางตรงข้าม วัสดุบรรจุที่น้อยเกินไปอาจทำให้ต้นทุนลดลงจริง แต่อาจทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่สามารถปกป้องสินค้าได้เลย ดังนั้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ขนส่งสินค้าจึงต้องอาศัยแนวคิดที่เป็นระบบเพื่อให้ได้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยอาศัยความรู้เชิงเทคนิคและความเข้าใจในสถานการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้สินค้าถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย